วันศุกร์, พฤษภาคม 3, 2024
หน้าแรกเศรษฐกิจส่องตลาดเครื่องดื่ม Non-Alcohol โตสวนกระแสแม้โควิดระบาด

ส่องตลาดเครื่องดื่ม Non-Alcohol โตสวนกระแสแม้โควิดระบาด

-

อ่านข่าวนี้กดที่นี่

การระบาดของโควิด 19 ทำให้พวกเราต้องใช้ชีวิตแบบเว้นระยะห่างทางสังคม ส่งผลให้การบริโภคเครื่องดื่มนอกบ้านปรับตัวลดลงตามไปด้วย ทั้งจากมาตรการควบคุมโรค รวมถึงการระมัดระวังในการใช้ชีวิตประจำวัน และกำลังซื้อที่ลดลงของผู้บริโภค ซึ่งส่งผลกระทบต่อตลาดเครื่องดื่มนอกบ้าน โดยเฉพาะเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์

สอดคล้องกับรายงาน Food Report 2564 จัดทําโดยสถาบันวิจัย Zukunftsinstitut ร่วมกับหนังสือพิมพ์ Lebensmittel Zeitung, foodservice และ gv-praxis ของเยอรมนีระบุว่า ผู้บริโภคจํานวนมากหันมาเลือกเครื่องดื่มทดแทนหรือเครื่องดื่มไร้แอลกอฮอล์ ซึ่งเห็นได้ชัดในเวลานี้ว่า ผู้บริโภคส่วนหนึ่งชอบเครื่องดื่มแปลกใหม่ที่มีรสชาติหลากหลายมากขึ้น และไม่จำเป็นต้องเน้นแอลกอฮอล์เพียงอย่างเดียว

ทำให้ทิศทางของเครื่องดื่มไร้แอลกอฮอล์ เติบโตสวนกระแสอย่างเห็นได้ชัด โดยเครื่องดื่มกลุ่มนี้ ได้แก่ เบียร์ไร้แอลกอฮอล์ เบียร์วีแกน ปลอดน้ำตาล ปลอดกลูเตนไซรัปและน้ำผลไม้เข้มข้นที่ใช้ในการผสมเครื่องดื่มไร้แอลกอฮอล์ หรือทำเป็นค็อกเทล เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของพืชและสมุนไพร ตลาดกลุ่มนี้มีแนวโน้มการขยายตัวมากขึ้นถึง 31% และลากยาวไปจนถึงปี 2567 เลยทีเดียว

แนวโน้มตลาดเครื่องดื่ม Non-Alcohol เติบโตสวนกระแส

ในขณะที่ประเทศไทย ภาพรวมตลาดเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ (Non-alcoholic Beverages) ในประเทศ ปี 2564 เติบโตอยู่ที่ประมาณ 1.97-1.99 แสนล้านบาท หรือเติบโตจากปีก่อนหน้าประมาณ 0.5-1.5% โดยเฉพาะสินค้าเครื่องดื่มเฉพาะกลุ่มและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ ช่วยผลักดันตลาดเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ให้เติบโตขึ้นแม้ในสถานการณ์โควิด 19

เมื่อได้รับการตอบรับจากตลาดมากขึ้น รัฐบาลไทยจึงมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมนี้ ทำให้ปัจจุบันอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไร้แอลกอฮอล์ในประเทศไทยมีหลากหลายประเภท และมีจำนวนผู้ประกอบการมากราย ซึ่งมีโครงสร้างอุตสาหกรรมแตกต่างกันในแต่ละประเภท ส่งผลให้การส่งออกเครื่องดื่มของไทยส่วนใหญ่เป็นเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์

ทั้งนี้เครื่องดื่ม Non–Alcohol ไม่ได้หมายความว่า เป็นเครื่องดื่มที่ไม่มีปริมาณแอลกอฮอล์ผสมอยู่เลย แต่มีในปริมาณที่ต่ำ จนกฎหมายอนุญาตให้ใช้คำว่าไร้แอลกอฮอล์ในการเรียกผลิตภัณฑ์ได้ ซึ่งในประเทศไทยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กำหนดให้มีปริมาณแอลกอฮอล์คงเหลือในผลิตภัณฑ์ไม่เกินร้อยละ 0.5% และการโฆษณาต้องไม่ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดในสาระสำคัญของผลิตภัณฑ์นั้นๆ

ส่องตลาดต่างประเทศ พร้อมปรับตัวมากแค่ไหน

อย่างไรก็ตามผู้บริโภคบางส่วนหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น อาจทำให้เบียร์ไร้แอลกอฮอล์ซึ่งเป็นเซ็กเมนต์ใหม่และกำลังเป็นที่นิยมทั่วโลก เข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดเบียร์มีแอลกอฮอล์ได้ ถือเป็นความท้าทายในธุรกิจที่ต้องเผชิญการแข่งขันในตลาดที่สูง

ยกตัวอย่างบริษัทอาซาฮี กรุ๊ป โฮลดิ้ง ผู้ผลิตเครื่องดื่มอันดับต้นๆ ของญี่ปุ่น ที่ประกาศเพิ่มการผลิตเครื่องดื่มไร้แอลกอฮอล์ และลดการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลงเหลือ 20% ในปี 2568 ซึ่งเป็นการลดยอดขายลงมากกว่า 3 เท่า เมื่อเทียบกับยอดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปี 2562

เทรนด์เครื่องดื่มไร้แอลกอฮอล์หรือแอลกอฮอล์ต่ำนี้ยังขยายไปถึงประเทศอื่น เช่น เกาหลีใต้ Hitejinro ผู้ผลิตโซจูรายใหญ่ของเกาหลี ก็ได้ลดปริมาณแอลกอฮอล์ใน Chamisul Fresh โซจูแบรนด์ดังของบริษัทจาก 19% ลดลงเหลือ 16.9%

ดังนั้นเมื่อการแข่งขันในตลาดมีความเข้มข้นเพิ่มขึ้น เพื่อหาโอกาสในการช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดและกำลังซื้อจากผู้บริโภค ผู้ประกอบการจำเป็นต้องหาช่องทางการตลาดใหม่ๆ ปรับกลยุทธ์เพื่อสอดรับกับเทรนด์ตลาดเครื่องดื่มในยุคปัจจุบัน

ที่มา : bangkokbanksme

ข่าวยอดนิยมในสัปดาห์