ประชาชนก็เลือกได้ ถ้าเข้าไปสมัคร!
การสรรหาสว. ด้วยระบบ “แบ่งกลุ่มอาชีพ” และ “เลือกกันเอง” เป็นนวัตกรรมอย่างหนึ่งที่พลพรรคของ คสช. ออกแบบไว้เพื่อหวังยึดกุม สว. ในระยะยาว ระบบการเลือกกันเองระหว่างผู้สมัคร จากระดับอำเภอแและจังหวัด เอื้อสำหรับคนที่มีเครือข่าย และมีอิทธิพลอยู่ในพื้นที่ ระบบการคัดเลือกหลายรอบ และค่าธรรมเนียม 2,500 บาท เป็นข้อจำกัดสำหรับคนที่ทำงานหาเช้ากินค่ำและไม่มีเงินทอง
ระบบนี้จึงเป็นการคัดเลือกสว. จากคนที่ “มีเพื่อน มีเงิน และมีเวลา”
เอื้อสำหรับการจัดตั้งคนไปสมัครและโหวตเลือกพวกเดียวกันเอง แต่ผลลัพธ์สุดท้ายอาจ “ล็อก” ไม่ได้ง่าย หากมีผู้สมัครเข้าร่วมกระบวนการจำนวนมาก คนที่สมัครเข้าไปอย่าง “อิสระ” ก็จะออกเสียงได้ตามเจตจำนงของตัวเอง ยิ่งมีคนสมัครมาก ก็ยิ่งเกิดการมีส่วนร่วมมาก ทำลายโอกาสของเสียง “จัดตั้ง” และเพิ่มโอกาสได้ สว. ที่เป็นตัวแทนจากความคิดเห็นหลากหลายมากขึ้น
สมัคร สว. ≠ อยากเป็น สว. เอง สมัคร สว. เพื่อ มีสิทธิมีเสียง ได้ดังนี้
- ผู้สมัครจะมีโอกาสลงคะแนนโหวตให้กับผู้สมัครคนอื่นๆ ทั้งในกลุ่มตัวเองและต่างกลุ่ม
เป็นช่องทางเดียวที่จะมีโอกาสได้เลือกคนที่มีแนวคิด อุดมการณ์ ความฝัน สอดคล้องกับตัวเอง - ผู้สมัครจะมีโอกาสลุ้นเข้ารอบ เพื่อไปโหวตให้กับผู้สมัครอีกหลายคนอีกหลายครั้ง
ถ้าเข้ารอบสุดท้ายก็มีโอกาสเป็นเสียงตัดสินคนที่จะได้เป็น สว. จริงๆ หรือมีโอกาสได้เป็น สว. เพื่อทำตามความฝันของตัวเอง - ผู้สมัครที่ได้เข้าร่วมกระบวนการ จะมีโอกาสช่วยกัน “จับตา” สังเกตสิ่งผิดปกติ
หากมีการ “จัดตั้ง” หรือ “ล็อกผล” ในกลุ่มผู้สมัครคนอื่น ก็จะนำมาเปิดโปงป้องกันการโกงได้
คุณสมบัติผู้สมัครสว.
- ต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทยโดยกำเนิด
- ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 40 ปี ในวันที่สมัครรับเลือก
- มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ หรือทำงานในด้านที่สมัครไม่น้อยกว่าสิบปี ไม่นับรวมกลุ่มที่ 8 คือ กลุ่มสตรี ผู้สูงอายุ คนพิการหรือทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มอัตลักษณ์อื่น ประชาสังคม องค์กรสาธารณประโยชน์
- ต้องมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้ 1). เกิดในอำเภอที่ลงสมัครรับเลือก 2). มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านของอำเภอที่ลงสมัครรับเลือก เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสองปีนับถึงวันที่สมัคร 3). เคยทำงานอยู่ในอำเภอที่สมัครรับเลือก เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสองปีนับถึงวันที่สมัคร 4). เคยทำงานหรือเคยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านอยู่ในอำเภอที่สมัครรับเลือก แล้วแต่กรณี เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสองปี 5). เคยศึกษาในสถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในอำเภอที่สมัครรับเลือกเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า สองปีการศึกษา
คุณสมบัติ ต้องห้ามสมัครสว.
- ติดยาเสพติดให้โทษ
- เป็นบุคคลล้มละลาย หรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต
- เป็นเจ้าของ หรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ
- เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช
- อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ไม่ว่าคดีนั้นจะถึงที่สุดแล้วหรือไม่
- วิกลจริต หรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
- อยู่ระหว่างถูกระงับการใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นการชั่วคราว หรือถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง
- ต้องคำพิพากษาให้จำคุก และถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล
- เคยได้รับโทษจำคุก โดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึงสิบปีนับถึงวันเลือกในระดับอำเภอ ยกเว้นความผิดที่กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ
- เคยถูกสั่งให้พ้นจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเพราะทุจริตต่อหน้าที่ หรือถือว่ากระทำการทุจริต หรือประพฤติมิชอบในวงราชการ
- เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอันถึงที่สุดให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวยผิดปกติ หรือเคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกเพราะกระทำความผิดตามกฎหมาย ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
- เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือ ต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ หรือความผิดในกฎหมายว่าด้วยยาเสพติด การพนัน การค้ามนุษย์ หรือการฟอกเงิน
- เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำการอันเป็นการทุจริตในการเลือกตั้ง
- อยู่ในระหว่างต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
- เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ
- เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ
- เคยพ้นจากตำแหน่งเพราะศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า มีการเสนอ การแปรญัตติ หรือ การกระทำด้วยประการใดๆ ที่มีผลให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือกรรมาธิการ มีส่วนไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม ในการใช้งบประมาณรายจ่าย
- เคยพ้นจากตำแหน่งเพราะศาลฎีกาหรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษาว่า เป็นผู้มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ หรือกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
- เป็นข้าราชการ
- เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เว้นแต่ได้พ้นจากการเป็น สส. มาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี นับถึงวันสมัครรับเลือก
- เป็นสมาชิกพรรคการเมือง
- เป็นหรือเคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมือง เว้นแต่ได้พ้นจากการดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี นับถึงวันสมัครรับเลือก
- เป็นหรือเคยเป็นรัฐมนตรี เว้นแต่ได้พ้นจากการเป็นรัฐมนตรีมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี นับถึงวันสมัครรับเลือก
- เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น เว้นแต่ได้พ้นจากการเป็นสมาชิกมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี นับถึงวันสมัครรับเลือก
- เป็นบุพการี คู่สมรส หรือบุตร ของผู้ดำรงตำแหน่ง สส. สว. ข้าราชการการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ผู้สมัครรับเลือกเป็น สว. ในคราวเดียวกัน หรือผู้ดำรงตำแหน่งใดในศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอิสระ
- เคยเป็นสมาชิกวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญ
ผู้สมัครเลือกได้ว่า มีคุณสมบัติเข้ากลุ่มไหน
- กลุ่มบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง
- กลุ่มกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม
- กลุ่มการศึกษา
- กลุ่มสาธารณสุข
- กลุ่มทำนา ทำไร่
- กลุ่มทำสวน ประมง เลี้ยงสัตว์
- กลุ่มลูกจ้าง ผู้ใช้แรงงาน
- กลุ่มผู้ประกอบกิจการ SMEs
- กลุ่มผู้ประกอบกิจการอื่น
- กลุ่มผู้ประกอบอุตสาหกรรม
- กลุ่มสิ่งแวดล้อม อสังหาริมทรัพย์ พลังงาน
- กลุ่มท่องเที่ยว โรงแรม
- กลุ่มวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี
- กลุ่มศิลปะ ดนตรี บันเทิง กีฬา
- กลุ่มประชาสังคม
- กลุ่มสื่อสารมวลชน นักเขียน
- กลุ่มอาชีพอิสระ
- กลุ่มสตรี
- กลุ่มผู้สูงอายุ คนพิการ ชาติพันธุ์
- กลุ่มอื่นๆ
สมัคร สว. ได้ที่ไหน?
ผู้มีคุณสมบัติไปสมัคร สว. ได้ที่อำเภอหรือเขต ซึ่งเคยมีความเกี่ยวข้องด้วย
- อำเภอที่เกิด
- อำเภอที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านติดต่อกันไม่น้อยกว่า 2 ปี (นับถึงวันสมัคร)
- อำเภอที่ทำงานติดต่อกันไม่น้อยกว่า 2 ปี (นับถึงวันสมัคร)
- อำเภอที่เคยทำงาน หรือเคยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านไม่น้อยกว่า 2 ปี
- อำเภอของสถานศึกษาที่เคยศึกษาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 2 ปีการศึกษาตั้งอยู่
**เลือกเองว่า อยากสมัครที่ไหน เลือกสมัครได้อำเภอเดียวเท่านั้น
ไทม์ไลน์ การเลือก สว. จะเสร็จใน 2 เดือน
- 11 พฤษภาคม 2567 สว. ชุดเดิมหมดอายุ
- อย่างเร็ว 12 พ.ค. ออกพระราชกฤษฎีกาให้เลือก สว. ชุดใหม่*
- ประมาณ 27 พ.ค. – 2 มิ.ย. เปิดรับสมัครผู้ประสงค์เป็น สว.
- ภายใน 22 มิ.ย. เลือกระดับอำเภอ
- +7 วัน เลือกระดับจังหวัด
- +10 วัน เลือกระดับประเทศ
- อย่างเร็ว 14 ก.ค. ประกาศผลผู้ได้เป็น สว.
**หากตราพระราชกฤษฎีกาช้า กรอบเวลาก็จะช้าออกไป
ขั้นตอนวิธีการคัดเลือก แบบ “เลือกกันเอง” และ “เลือกไขว้”
พ.ร.ป.สว.ฯ มาตรา 40-42 ออกแบบการเลือก สว. เป็นสามระดับ ดังนี้
ระดับอำเภอ
- ผู้สมัครจะเข้า “กลุ่มอาชีพ” ตามที่สมัคร เลือกกันเองในกลุ่ม ไม่เกิน 2 โหวต โหวตตัวเองได้ โหวตคนเดียวสองคะแนนไม่ได้ เลือกเอา 5 อันดับแรกจากแต่ละกลุ่ม
- จับสลากแบ่งสาย แต่ละสายมี 3-5 กลุ่ม
- ผู้ที่ได้ 5 อันดับแรก โหวตผู้สมัครกลุ่มอื่นในสายเดียวกันกลุ่มละ 1 โหวต
- ผู้ชนะ 3 อันดับแรกของแต่ละกลุ่ม ผ่านเข้าสู่สนามระดับจังหวัด
ระดับจังหวัด
- ผู้ชนะจากระดับอำเภอจะมาอยู่ใน “กลุ่มอาชีพ” ระดับจังหวัด เลือกกันเองในกลุ่ม ไม่เกิน 2 โหวต โหวตตัวเองได้ โหวตคนเดียวสองคะแนนไม่ได้ เลือกเอา 5 อันดับแรกจากแต่ละกลุ่ม
- จับสลากแบ่งสาย แต่ละสายมี 3-5 กลุ่ม
- ผู้ที่ได้ 5 อันดับแรก โหวตผู้สมัครกลุ่มอื่นในสายเดียวกันกลุ่มละ 1 โหวต
- ผู้ชนะ 2 อันดับแรกของแต่ละกลุ่ม ผ่านเข้าสู่สนามระดับประเทศ
ระดับประเทศ
- ผู้ชนะจากระดับจังหวัดจะมาอยู่ใน “กลุ่มอาชีพ” ระดับประเทศ แล้วเลือกกันเองในกลุ่ม ไม่เกิน 10 โหวต โหวตตัวเองได้ โหวตคนเดียวหลายคะแนนไม่ได้ เลือกเอา 40 อันดับแรกจากแต่ละกลุ่ม
- จับสลากแบ่งสาย แต่ละสายมี 3-5 กลุ่ม
- ผู้ที่ได้ 40 อันดับแรก โหวตผู้สมัครกลุ่มอื่นในสายเดียวกันกลุ่มละ 5 โหวต
- ผู้ชนะคือ 10 อันดับแรกของแต่ละกลุ่ม ได้เป็นสว.
อันดับที่ 11-15 ของแต่ละกลุ่ม เป็นรายชื่อสำรอง
ปล. ถ้ามีผู้สมัครในกลุ่มนั้นๆ ไม่ครบ ใครมาก็เข้ารอบเลย
ปล.2 ถ้าโหวตแล้วได้คะแนนเท่ากัน ให้จับสลาก