วันอังคาร, เมษายน 30, 2024
หน้าแรกท่องเที่ยวประวัติ ตะรุเตาคุกกลางทะเล EP1

ประวัติ ตะรุเตาคุกกลางทะเล EP1

-

อ่านข่าวนี้กดที่นี่

#เกาะตะรุเตาเป็นเกาะหลักเกาะใหญ่และสำคัญที่สุดในอุทยานแห่งชาติตะรุเตา ซึ่งเป็นอุทยานแห่งชาติทางทะเลแห่งแรกทางฝั่งอันดามัน มีชื่อเสียงทางด้านประวัติศาสตร์และความสวยงามตั้งอยู่ในทะเลอันดามันบริเวณช่องแคบมะละกามหาสมุทรอินเดียในท้องที่ตำบลเกาะสาหร่ายอำเภอเมืองจังหวัดสตูล อุทยานแห่งนี้อยู่ห่างจากตัวเมืองสตูลไปทางทิศตะวันตกประมาณ 40 กิโลเมตรและห่างจากฝั่งที่ท่าเรือปากบาราประมาณ 22 กิโลเมตร อุทยานแห่งชาติตะรุเตาประกอบด้วยเกาะใหญ่น้อย 51 เกาะโดยแบ่งเป็นหมู่เกาะใหญ่ 2 หมู่เกาะคือหมู่เกาะตะรุเตาและหมู่เกาะอาดัง-ราวี เกาะสำคัญขนาดใหญ่มี 7 เกาะได้แก่เกาะตะรุเตาเกาะอาดัง เกาะราวี เกาะดง เกาะหลีเป๊ะเกาะเหล็ก เกาะกลางเฉพาะเกาะตะรุเตาเกาะเดียวมีเนื้อที่ประมาณ 151 ตารางกิโลเมตร ส่วนยาวจากเหนือไปใต้ยาวประมาณ 25 กิโลเมตร ส่วนกว้างประมาณ 10 กิโลเมตร ตั้งอยู่ระหว่างเกาะอาดังกับจังหวัดสตูล แนวเขตด้านใต้ของอุทยานฯติดกับเส้นเขตแดนในทะเลระหว่างประเทศไทยและสหพันธรัฐมาเลเซีย#ลักษณะรูปร่างของเกาะตะรุเตาคล้ายนิ้วหัวแม่มือตัดท่อนเลยโคนนิ้วลักษณะป่องตรงกลางค่อยๆสอบเรียวไปทางทิศเหนือสุด พื้นที่ส่วนใหญ่ของเกาะตะรุเตาเป็นภูเขาสลับซับซ้อนมีความลาดชันสูงชายฝั่งทางด้านตะวันออก ส่วนมากจะเป็นหน้าผาสูงชันสลับกับอ่าวและหาดทรายโคลนทางด้านตะวันตกจะมีหน้าผา เฉพาะทางด้านเหนือบริเวณแหลมตันหยงมะระ(ด้านหัวเกาะ) มีพื้นราบและหุบเขาบ้างเล็กน้อยที่ราบอยู่เป็นหย่อมๆทางเทือกเขาหลังอ่าว#เกาะตะรุเตามีป่าที่อุดมสมบูรณ์เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่านานาชนิดมีพรรณไม้นานาชนิดได้แก่หลุมพอตะเคียนทอง ยางขาวยางแดง จัดเป็นไม้ที่มีคุณภาพดีของภาคใต้ ป่าของอุทยานแห่งชาติตะรุเตาเป็นทั้งป่าดงดิบป่าผสมผลัดใบ ป่าเขาหินปูน ป่าชายหาด ป่าพรุ ป่าชายเลน ป่ารุ่นสองและมีไม้แคระ ไม้พุ่ม บนเกาะมีสัตว์ป่า สัตว์เลื้อยคลาน นก พืช และสัตว์น้ำ กุ้ง หอย ปูปลา สัตว์น้ำจืด เป็นต้น

#ภูเขาและป่าไม้ครอบคลุมพื้นที่ของเกาะเกือบหมด มีถ้ำมากมายที่มีชื่อเสียง ได้แก่ถ้ำจระเข้ตั้งอยู่ใกล้อ่าวพันเตมะละกา ถ้ำฤษี และถ้ำอื่นๆ รวมทั้งน้ำตกนอกจากนี้ยังมีแร่ธาตุต่างๆอีกมากมาย ภูเขาและป่าไม้บนเกาะตะรุเตาเป็นต้นกำเนิดของต้นน้ำลำธารสายสั้นๆไหลลงสู่อ่าวเล็กอ่าวน้อยซึ่งมีอยู่มากมายรอบเกาะ ลำธารเหล่านี้มีน้ำไหลผ่านตลอดปีไม่เคยเหือดแห้งเพราะสภาพต้นน้ำยังอุดมสมบูรณ์ น้ำในลำธารใสจืดสนิทบริโภคได้ ลำธารเหล่านี้ไหลลงสู่ทะเลและอ่าวต่างๆซึ่งมีอยู่เรียงรายรอบเกาะ เช่น อ่าวพันเตมะละกา อ่าวสน อ่าวจาก อ่าวตะโละโต๊ะโป๊ะ อ่าวนกแก้ว อ่าวตะโละอุดัง อ่าวตะโละวาว อ่าวพันเตซูรัต อ่าวหินงาม อ่าวตาเพนจากที่มีจำนวนอ่าวเป็นจำนวนมากชาวบ้านจึงเรียกเกาะนี้ว่า“ตะโละเตรา” ซึ่งเป็นภาษามาลายูแปลว่า“อ่าวมาก” ภายหลังเพี้ยนเป็น“ตะรุเตา”

#อ่าวแต่ละแห่งมีสภาพธรรมชาติต่างกัน เช่น มีหาดทรายขาวยาวเหยียดสุดลูกหูลุกตาบ้างก็มีสภาพเป็นโขดหินโกรกผาเว้าแหว่งลาดชัน ถ้ามองขึ้นไปบนยอดผาได้ จะมองเห็นทิวทัศน์ได้ไกล บางอ่าวก็ดารดาษด้วยก้อนหินน้อยใหญ่เรียงรายแทนเม็ดทราย น่าจะเรียกว่าหาดหิน หินมีขนาดต่างๆเป็นรูปก้อนกลมรูปไข่ทรงรี ผิวเรียบลื่นเป็นมัน สีสารพัด ทั้งดำฟ้าน้ำตาลแดงหรือผสมผสานกันเป็นริ้วลายธรรมชาติที่สวยงามวิจิตรบรรจง. ซึ่งมีการค้นพบภายหลังว่าหินในพื้นที่ของหมู่เกาะตะรุเตาเป็นหินที่เกิดในยุคแคมเบรียม (ประมาณ 600 ล้านปี) พบซากดึกดำบรรพ์ในกลุ่มหินตะรุเตาซึ่งเชื่อว่าเป็นหินที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดของประเทศไทยมีลักษณะเป็นหินทรายสีแดงจนถึงสีน้ำตาลหินดินดานสีแดงและหินดินดานปนหินทราย กลุ่มหินนี้พบมากทางภาคใต้ ด้วยเหตุนี้พื้นที่เกาะตะรุเตาจึงถูกจัดให้อยู่ในเขตอุทยานธรณีโลกสตูล ชาวบ้านที่เกาะเล่าว่า เมื่อครั้งกระโน้นแม้ตะรุเตาจะเป็นเกาะกลางทะเลลึกแต่ก็มีวัวป่า ควายป่า หมูป่า แม้กระทั่งเสือลายพาดกลอน เสือดำ ลิงค่าง กระจงจระเข้ ให้นักนิยมไพรประลองฝีมือได้ทุกเวลาเหมือนกัน ส่วนทางด้านใต้สุดของเกาะก็มีรังนกคือนกนางแอ่นอาศัยทำรังอยู่เป็นจำนวนมาก มีนายอากรผูกขาดเก็บรังนกเป็นรายได้สรรพากรอย่างหนึ่ง บริเวณเกาะน้ำลึกมากเป็นที่อาศัยของปลาตัวใหญ่ๆและชุกชุมมาก ฉลามร้ายก็มักอาศัยอยู่บริเวณนี้ แม้ปลาวาฬและโลมาก็มักจะโผล่ขึ้นบริเวณนี้เสมอ

#เมื่อก่อนชาวประมงที่มาลงอวนทำโป๊ะน้ำลึกบริเวณเกาะนี้ได้ปลาตัวใหญ่ๆมากมาย แม้ชาวต่างประเทศจากปะลิสก็มักวกลำเข้ามาลักลอบจับปลาในบริเวณเกาะนี้มิได้ขาด ปลาบริเวณจึงนับเป็นสินในน้ำของชาติอันมีค่ามหาศาล เมื่อก่อนปลาจาระเม็ดตัวโตซึ่งอาจหาทานได้ที่นี่โดยไม่ต้องซื้อหา ในขณะที่วิ่งเรือในทะเล จะได้ปลาขนาดยาวเป็นวามารับประทานโดยมิได้ตั้งใจเลยส่วนมากเป็นปลาอินทรีย์ซึ่งมีมากบริเวณนี้

#มีชาวประมงบางคนใช้วัตถุระเบิดเป็นเครื่องมือในการจับปลา เป็นวิธีจับปลาที่ไม่ต้องลงทุนและง่ายมากซึ่งเป็นการทำลายฝูงปลา นั่นคือเมื่อทิ้งระเบิดลงในน้ำที่แน่ใจว่ามีฝูงปลามาก ปลาตัวใดที่อยู่ในรัศมีระเบิดก็จะถึงแก่ความตายทันทีไม่ว่าปลาเล็กปลาใหญ่เมื่อใกล้ตายมักลอยขึ้นมาเหนือพื้นน้ำแล้วผู้ระเบิดปลาก็จับเอาตามสบายโดยมิต้องลงทุนลงแรงมาก ปลาที่จับไม่ทันเมื่อตายสนิทก็จมลงสู่ก้นทะเลเป็นอาหารของฉลามต่อไป การกระทำเช่นนี้เป็นการทำลายเศรษฐกิจของประเทศอย่างร้ายแรง ปลาอาจสูญพันธ์ุไปอย่างรวดเร็วหรือไม่ก็หนีไปอยู่ที่อื่น ยังเป็นการทำลายอาชีพของตนอีกด้วยถึงแม้ว่าทางฝ่ายเจ้าหน้าที่ได้จับกุมผู้มีอาชีพทางนี้มาลงโทษแล้วหลายต่อหลายรายแต่ก็ยังหาเข็ดหลาบไม่ บางรายที่จับไม่ได้ก็ถูกกรรมสนองคือถูกระเบิดที่ตนใช้ระเบิดฝูงปลาถึงตายหรือบาดเจ็บก็มี

#เกาะตะรุเตาว่ากันตามพื้นที่การปกครองแล้วตั้งอยู่ในท้องที่ของตำบลเกาะสาหร่าย อำเภอเมืองสตูล เกาะตะรุเตาต่างจากเกาะอื่นด้วยที่พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาถ้ามองจากแผ่นดินใหญ่ดูคล้ายกับว่าภูเขาโผล่ขึ้นมาเหนือทะเลเป็นแนวยาวเหยียดที่เดียว นั่นคือดูเหมือนแผ่นดินใหญ่ๆที่มีน้ำล้อมรอบถ้าเรายืนอยู่ทางฝั่งตะวันตกของสตูลมองตรงไปที่เกาะตะรุเตาจะเห็นเกาะตะรุเตาทอดยาวเหยียดขึ้นมาเหนือทะเลพาดจากเหนือไปทางใต้สีดำทะมึนตัดกับท้องฟ้าสีน้ำเงินฉากหลังเป็นทิวเขาโผล่ขึ้นมาเหนือน้ำจริงๆและจะเห็นเกาะอีกเกาะหนึ่งอยู่ใกล้กันอยู่ติดกันเหมือนเป็นเกาะเดียวกันเกาะนั้นคือเกาะลังกาวีของมาเลเซียซึ่งอยู่ห่างกันราว 5 กิโลเมตร หากดูตามแผนที่ของจังหวัดสตูลจะมองเห็นเกาะใหญ่ที่สุดอยู่กลางทะเลอันดามันห่างจากฝั่งประมาณ 40 กม. มองเห็นตะคุ่มๆอยู่ หากล่องเรือเข้าไปอีกครึ่งทางทางด้านซ้ายมือจะเห็นเกาะลังกาวีตั้งอยู่ห่างออกไปและมองดูเกือบชิดติดต่อกับเกาะตะรุเตา#ถ้าพูดถึงเกาะลังกาวีในทางประวัติศาสตร์เกาะลังกาวีเป็นของฝ่ายไทยมาก่อนจังหวัดสตูลตั้งเป็นเมืองครั้งแรก โดยเป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งของเมืองไทรบุรี มาจัดตั้งเมืองเมื่อปี พ.ศ.2382 สมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เดิมเมืองนี้มีฐานะเป็นตำบลหนึ่งของไทรบุรีเมื่อมีฐานะเป็นเมืองแล้วก็อยู่ภายใต้การปกครองของเมืองนครศรีธรรมราชซึ่งเป็นหัวเมืองใหญ่ทางปักษ์ใต้ แล้วต่อมาในรัชกาลที่ 5 ได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติการปกครองหัวเมือง ร.ศ.116 ตรงกับพ.ศ.2440 ให้รวมเมืองสตูลขึ้นกับมณฑลไทรบุรีล่วงมาในปี พ.ศ.2451 ประเทศไทยถูกบีบคั้นทางการเมืองจากฝ่ายอังกฤษต้องยก รัฐกลันตัน ตรังกานูรวมทั้งพื้นที่บางส่วนของมณฑลไทรบุรีและเมืองปะลิส ให้กับอังกฤษซึ่งปกครองเมืองมลายูในสมัยนั้น ส่วนพื้นที่ที่เป็นเมืองสตูลก็ให้ถือกำหนดแนวภูเขาเป็นพรมแดนโดยถือสันปันน้ำแบ่งเขตกับฝ่ายไทยก็คือจังหวัดสตูลทุกวันนี้ ตั้งแต่นั้นมาเกาะตะรุเตาและเกาะลังกาวีสองพี่น้องต้องพลัดพรากจากกันไป

#เมื่อก่อนบริเวณอ่าวมะขามกับอ่าวตะโล๊ะอุดัง (ตะโล๊ะ ภาษามลายูแปลว่าอ่าวอุดังและว่ากุ้ง) ทั้งสองอ่าวมีกระท่อมทับชาวประมงตั้งอยู่เรียงรายตามชายหาดสำหรับใช้เป็นที่พักแรมในฤดูจับปลาบนเกาะมีบ่อน้ำจืดและน้ำตกเล็กๆไม่ไกลจากอ่าวตะโละอุดังนัก มีต้นมะพร้าวต้นยางพารามีที่ราบและน้ำจืดอยู่บนเกาะพอเพียงที่จะอยู่อาศัยได้เป็นอย่างดี เดิมมีราษฎรอาศัยอยู่ประมาณ 200 คนเศษแบ่งการปกครองออกเป็น 2 หมู่บ้านต่อมาเมื่อ พ.ศ.2483 กรมราชทัณฑ์ได้ออกพระราชกฤษฎีกา หวงห้ามเกาะตะรุเตาไว้ตั้งเป็นนิคมฝึกอาชีพขึ้นคราวหนึ่ง พลเมืองที่อาศัยอยู่ในเกาะนี้จึงได้อพยพไปอยู่ที่อื่น

#เมื่อปี พ.ศ. 2479 เกาะตะรุเตาเริ่มมีพระราชบัญญัติกักกันผู้มีสันดานเป็นโจรผู้ร้ายโดยกรมราชทัณฑ์ได้เลือกบรรดาเกาะต่างๆในประเทศไทยเห็นว่าเกาะตะรุเตาเป็นเกาะที่เหมาะสมเพราะตั้งอยู่ห่างไกลจากฝั่งป้องกันการหลบหนีและสามารถที่จะพัฒนาเกาะให้เจริญขึ้น ต่อมา เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2480 หลวงพิธานทัณฑภัยได้เป็นหัวหน้านำผู้คุมและนักโทษไปสำรวจบุกเบิกโดยไปขึ้นที่อ่าวตะโล๊ะอุดังและอ่าวตะโละวาวหลังจากเดือน มิถุนายน พ.ศ. 2481 เกาะตะรุเตาก็แปรสภาพมาเป็น ทัณฑสถานและเป็นนิคมฝึกอาชีพของนักโทษเด็ดขาดและนักโทษผู้มีสันดานเป็นผู้ร้าย

#พ.ศ.2482 ได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตหวงห้ามที่ดินบนเกาะนี้เพื่อประโยชน์แก่การราชทัณฑ์โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 56 หน้า 566 ลงวันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2482 เมื่อปลาย ปี พ.ศ. 2482 รัฐบาลได้ส่งนักโทษการเมืองจากคดี กบฎบวรเดช (พ.ศ. 2476) และ กบฎนายสิบ(พ.ศ. 2478) จำนวน 70 นายมายังเกาะตะรุเตาซึ่งถูกกักบริเวณไว้ที่อ่าวตะโละอุดังโดยจำนวนนักโทษทั้งหมดมีราว 3,000 คน

#ระหว่างปี พ.ศ.2484-2488 เกิดสงครามเอเชียบูรพาส่งผลให้เกาะตะรุเตาถูกตัดขาดออกจากแผ่นดินใหญ่เกิดปัญหาขาดแคลนอาหารยาและเครื่องใช้ต่างๆต้นปีพ.ศ.2487 ผู้คุมนักโทษได้ทำตัวเป็นโจรสลัดเข้าปล้นสะดมเรือบรรทุกสินค้าชาวไทยและต่างประเทศที่แล่นแผ่นไปมาซึ่งเล่ากันต่อๆมาว่าในกาลครั้งนั้นหลายชีวิตต้องสูญสิ้นเป็นเหยื่อสังเวยความเหี้ยมโหดทารุณของเหล่านักโทษผู้กระหายเลือดปล้นฆ่าถ่วงน้ำและฝังทั้งเป็นอย่างไร้ความปราณีไม่เว้นแต่ละวันสลัดในน่านน้ำไทยครั้งนั้นไม่มีครั้งใดสยดสยองเท่าหลายศพที่ถูกฝังไว้ริมหาดเมื่อถึงหน้ามรสุมน้ำทะเลเซาะเอากะโหลกกองกระดูกขึ้นมาตั้งเกลื่อนกลาดเหมือนป่าช้ากล่าวกันว่ามีทองคำแท่งซึ่งสลัดปล้นมาได้ฝังไว้มากมายบางแห่งมีผู้ไปพบโดยบังเอิญถึงกับร่ำรวยเป็นเศรษฐีก็มีโดยเหตุที่ไม่ไว้วางใจกันในระหว่างผู้ร่วมคิดจึงต่างคนต่างลอบฆ่าฟันกันเองเพื่อจะได้สมบัติที่ฝังไว้เป็นของตนแต่ผู้เดียวในที่สุดก็ตายหมดและที่เหลือถูกจับกุมตัวไปบ้างเสียชีวิตในคุกบ้างถูกลอบฆ่าบ้างในที่สุดก็ไม่มีเหลือ ยังเล่ากันอีกต่อมาว่าในช่วง ปี พ.ศ.2497-2500 มีผู้มาขุดค้นขุมทรัพย์ตามรายแทงแต่ไม่ปรากฏว่าพบหรือไม่เชื่อว่าสมบัติเหล่านี้ยังจมอยู่ใต้ดินที่เกาะนี้อีกคณานับ

#จากการล่ำลือเรื่องราวโจรสลัด จึงทำให้เป็นที่หวาดกลัวของชาวสตูลที่จะต้องเดินทางผ่านไปมาเกาะตะรุเตาในครั้งนั้นเป็นอย่างมาก เมื่อก่อนชาวสตูลที่เดินทางไปตามเกาะแก่งต่างๆต้องขึ้นเรือที่ท่าเรือเกาะนกเดินทางโดยเรือยนต์จากท่าเรือเกาะนก ตอนออกปากน้ำจะเห็นขุนเขาดำทะมึนน่าสะพรึงกลัวยืนจังก้าอยู่เบื้องหน้านั่นคือเกาะตะรุเตาทำให้จินตนาการเสมือนว่าอสูรคอยยืนจ้องรอตะครุบเหยื่ออยู่ท้ายสุดรัฐบาลไทยและทหารอังกฤษก็ได้เข้าปราบโจรสลัดเกาะตะรุเตาสำเร็จเมื่อปี พ.ศ. 2489 และอีกสองปีต่อมากรมราชทัณฑ์จึงได้ยกเลิกนิคมฝึกอาชีพตะรุเตาความหวาดกลัวก็เริ่มคลี่คลายค่อยๆหายไปในที่สุด

#เหตุการณ์ร้ายๆราวตกอยู่ในนรกที่เกิดขึ้นในชีวิตของผู้คนที่เกี่ยวข้อง ได้ผ่านไปเหมือนพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสซึ่งต่อมาในปี พ.ศ. 2516 ได้มีการประกาศให้เกาะตะรุเตาเป็นเขตอุทยานแห่งชาติทางทะเล กองอุทยานแห่งชาติกรมป่าไม้ได้จัดตั้งเกาะตะรุเตาเป็นสำนักงานอุทธยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธ์พืชนับเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 8 ของประเทศไทย

#วันที่ 27 พฤศจิกายน 2527 อุทยานแห่งชาติตะรุเตาได้รับการประกาศจากประเทศสมาชิกอาเซียนให้เป็นอุทยานมรดกแห่งอาเซียนในฐานะพื้นที่อนุรักษ์ที่มีความสำคัญสูงที่เป็นตัวแทนระบบนิเวศของภูมิภาคและเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2561 UNESCOได้ประกาศอย่างเป็นทางการให้เป็นพื้นที่แหล่งธรณีวิทยาของจังหวัดสตูลที่ครอบคลุมพื้นที่ 4 อำเภอประกอบด้วยอำเภอมะนัง ละงู ทุ่งหว้าและบางส่วนของอำเภอเมืองคืออุทยานแห่งชาติตะรุเตาเป็นอุทยานธรณีโลก (Satun UNESCO Global Geopark) ซึ่งเป็นอุทยานธรณีระดับโลกแห่งแรกในประเทศไทยและเป็นแหล่งที่ 5 ของอาเซียน

#อ้างอิง#เว็บไซต์ tourthai com #เว็บไซต์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

#เว็บไซต์ กรมทรัพยากรธรณี กองอนุรักษ์และจัดการทรัพยากรธรณี อุทยานธรณีโลกของยูเนสโก UNESCO Global Geoparks กรุงเทพฯ 2561

#คำรบ นนทสุวรรณ. เมื่อสลัดครองตะรุเตาไปกวางเจาเที่ยวจีนแดง : โรงพิมพิ์เมืองสตูล, 2529

#ธำรงศักดิ์ อายุวัฒนะ. ไทยในมาเลเซีย. (พิมพิ์ครั้งที่ 2) กรุงเทพมหานคร : บริษัทสำนักพิมพิ์บรรณกิจ 1991 จำกัด , 2547

#จังหวัดสตูล. รายงานกิจการจังหวัดสตูล ประจำ ปี 2502

#หมายเหตุเรื่องราวในครั้งนี้ เป็นเพียงเสี้ยวหนึ่ง ที่ผู้เขียนได้รับการถ่ายทอดจากแหล่งต่างๆ ดังนั้นหากผู้อ่านมีความสนใจสามารถค้นหาความรู้ เพิ่มได้ตามแหล่งข้อมูลที่มีอยู่ผู้อ่านอาจต้องวิเคราะห์ข้อมูลที่หลากหลาย ……………ใช้ดุลพินิจทีมี ตัดสินใจ

Cr : Facebook ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นโดยคนสตูล

คชสีห์นิวส์ 6
คชสีห์นิวส์ 6
บรรณาธิการข่าวการศึกษา

ข่าวยอดนิยมในสัปดาห์