วันศุกร์, พฤษภาคม 3, 2024
หน้าแรกเศรษฐกิจยกระดับ 4 สินค้าไทย ส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตร ตอบโจทย์ตลาดโลก

ยกระดับ 4 สินค้าไทย ส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตร ตอบโจทย์ตลาดโลก

-

อ่านข่าวนี้กดที่นี่

ยกระดับ 4 สินค้า New S-curve ไทย ตีตลาดเศรษฐกิจการค้ายุคใหม่ สวนกระแสวิกฤตโควิด 19 กับแนวทางการเพิ่มขีดความสามารถ ในการส่งออกของผู้ประกอบการไทย ยกระดับฐานรากสู่การส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตรไทย พร้อมส่องแนวโน้มสำคัญกับการเติบโตในตลาดโลก เพื่อมุ่งสู่เศรษฐกิจการค้ายุคใหม่ ในระดับโลกได้ไม่ยาก

สินค้าไทยมีแนวโน้มเติบโตในตลาดโลกมาโดยตลอด โดยเฉพาะสินค้า 4 ประเภท ที่กำลังกลายเป็นสินค้าที่น่าจับตามองในขณะนี้ แม้ในช่วงวิกฤตโควิด 19 ที่ถือเป็นแรงส่งทำให้กลายเป็นสินค้าดาวรุ่งพุ่งแรง ที่พร้อมตีตลาดตลาดโลก โดย 4 สินค้าไทยที่กำลังกล่าวถึงนี้ คือ ยาและยาชีววัตถุ, เครื่องมือแพทย์, อาหารทางเลือก, และสมุนไพร

4 สินค้าไทย ยกระดับฐานราก สู่โอกาสตลาดโลก

1. อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์

การเข้าสู่สังคมสูงวัย การเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ป่วย รวมทั้งนโยบายภาครัฐที่ส่งเสริมอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร การท่องเที่ยวทางการแพทย์ ความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี ทำให้ไทยมีโอกาสในการพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์เพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม ไทยยังไม่สามารถผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่สำคัญได้ครบทุกประเภท เนื่องจากผู้บริโภคยังไม่มีความเชื่อมั่นในการใช้สินค้าไทย ผู้ผลิตและส่งออกส่วนใหญ่เป็นบริษัทข้ามชาติที่เข้ามาลงทุนในไทย และระบบนิเวศ (ecosystem) ยังไม่เอื้ออำนวยต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์

ดังนั้น เพื่อยกระดับศักยภาพกลุ่มสินค้าเครื่องมือแพทย์เชิงพาณิชย์ จึงควรเร่งประชาสัมพันธ์สินค้าเครื่องมือแพทย์ของไทย และสร้างความเชื่อมั่นเครื่องมือแพทย์ไทยให้มีการใช้งานอย่างแพร่หลาย ตลอดจนส่งเสริมด้านการตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ ส่งเสริมการอำนวยความสะดวกด้านข้อมูลและขั้นตอนด้านการรับรองมาตรฐานเครื่องมือแพทย์ให้แก่ผู้ประกอบการไทย และส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา

2. กลุ่มสินค้ายาและยาชีววัตถุ

อุตสาหกรรมยาของโลกมีแนวโน้มเติบโตอย่างรวดเร็ว คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี 2561-2568 อยู่ที่ร้อยละ 13.8% แต่สำหรับอุตสาหกรรมยาของไทย ส่วนมากเป็นการนำเข้ายาและยาชีววัตถุจากต่างประเทศ เนื่องจากไทยยังขาดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการต่อยอดไปสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ โดยในปี 2563 การนำเข้าผลิตภัณฑ์ในกลุ่มยารักษาโรคและป้องกันโรค มีมูลค่าอยู่ที่ 2,327.81 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในขณะที่การส่งออก มีมูลค่าอยู่ที่ 444.80 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งตลาดหลักคือประเทศในภูมิภาคอาเซียน

ดังนั้น แนวทางการยกระดับศักยภาพกลุ่มสินค้ายาและยาชีววัตถุเชิงพาณิชย์และการส่งออกหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ควรมีการปรับปรุงด้านโครงสร้างและกฎระเบียบให้เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมยาและยาชีววัตถุ และเชื่อมโยงภาคการวิจัยและการผลิตให้ไปสู่ภาคการตลาดมากขึ้น และการสร้างเครือข่ายกับต่างประเทศเพื่อขยายตลาดส่งออก ตลอดจนการส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา 

3. สินค้าสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย

อุตสาหกรรมสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สมุนไพรโลกมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ตลาดค้าปลีกสินค้าสมุนไพรขนาดใหญ่ของโลก ได้แก่ จีน สหรัฐฯ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และเยอรมนี สำหรับไทยก็เป็นหนึ่งในตลาดที่มีมูลค่าค้าปลีกสูงเช่นกัน โดยในปี 2563 มีมูลค่า 45,997.9  ล้านบาท ไทยยังมีโอกาสในการขยายการส่งออกได้อีกมาก โดยเฉพาะสารสกัดจากสมุนไพร ซึ่งส่วนใหญ่ส่งออกในรูปของวัตถุดิบหรือมีการแปรรูปขั้นต้นเท่านั้น

สำหรับสมุนไพรระดับ Product Champion ของไทยมี 4 ชนิดคือ กระชายดำ, ขมิ้นชัน, ไพล และ บัวบก ซึ่งขมิ้นชันส่วนใหญ่ถูกส่งเข้าสู่โรงงานแปรรูป แบ่งเป็นแปรรูปขั้นต้นและในรูปสารสกัด โดยถูกนำไปใช้ใน

อุตสาหกรรมในประเทศ คือ อุตสาหกรรมอาหาร 80% อุตสาหกรรมยาและเครื่องสำอาง อย่างละ 10%

4. อาหารทางเลือก (โปรตีนจากจิ้งหรีด)

หลายประเทศเริ่มให้ความสนใจกับโปรตีนจากแมลงอย่างแพร่หลาย เป็นโอกาสสำหรับไทยซึ่งมีการเพาะเลี้ยงจิ้งหรีดในเชิงพาณิชย์ แต่ยังพบปัญหา 2 ส่วนหลักๆ ได้แก่ การเพาะเลี้ยงจิ้งหรีดที่ไม่ได้มาตรฐาน จึงเป็นอุปสรรคสำหรับการส่งออก และการไม่มีตลาดที่แน่นอน การบริโภคผลิตภัณฑ์แปรรูปยังไม่แพร่หลายนัก ส่วนตลาดในต่างประเทศ มาตรฐานและกฎระเบียบยังไม่ชัดเจนนัก และการบริโภคแมลงเพิ่งเริ่มเป็นกระแสจึงยังเป็นตลาดเฉพาะที่มีผู้บริโภคในวงจำกัด

ดังนั้น ภาครัฐจึงควรเร่งส่งเสริมการเพาะเลี้ยง/การผลิตที่ได้มาตรฐาน รวมถึงการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า ตลอดจนการทำการตลาดทั้งภายในและต่างประเทศเพิ่มขึ้น ด้วยการประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ให้กับผู้บริโภค เพื่อเพิ่มความต้องการบริโภค

ทั้งนี้ สินค้าไทยทั้ง 4 ประเภท ที่กำลังกลายเป็นสินค้าที่น่าจับตามองนี้ ก็ยังสอดคล้องกับนโยบายภาครัฐที่ส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (New S-curve) ไม่ว่าจะเป็นเป้าหมายการเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub) ศูนย์กลางสินค้าเกษตรและอาหารคุณภาพของโลก

รวมถึงแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG) ซึ่งเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานราก (Local Economy) ของไทยด้วย

ที่มา : Bangkok bank

ข่าวยอดนิยมในสัปดาห์