วันอาทิตย์, ตุลาคม 13, 2024
หน้าแรกโรคระบาดกรมควบคุมโรค เผยพบผู้ป่วยฝีดาษวานรสงสัยสายพันธุ์ Clade 1 รายแรกในไทย เดินทางมาจากทวีปแอฟริกา อยู่ระหว่างตรวจยืนยันสายพันธุ์

กรมควบคุมโรค เผยพบผู้ป่วยฝีดาษวานรสงสัยสายพันธุ์ Clade 1 รายแรกในไทย เดินทางมาจากทวีปแอฟริกา อยู่ระหว่างตรวจยืนยันสายพันธุ์

-

อ่านข่าวนี้กดที่นี่

วันที่ 21 ส.ค.2567  กระทรวงสาธารณสุข ติดตามสถานการณ์โรคฝีดาษวานรที่กำลังแพร่ระบาดและพบผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นมากในทวีปแอฟริกาอย่างใกล้ชิด ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศให้โรคฝีดาษวานร เป็นภาวะฉุกเฉินทางด้านสาธารณสุขที่มีผลกระทบระหว่างประเทศ  นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค เร่งดำเนินการตรวจสอบกรณีพบผู้ป่วยฝีดาษวานรสงสัยสายพันธุ์ Clade 1 รายแรกในไทยที่เดินทางมาจากทวีปแอฟริกา
ไทม์ไลน์พบผู้ต้องสงสัยป่วยโรคฝีดาษวานร
ได้รับรายงานจากกองด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ และกองระบาดวิทยาว่าพบผู้ป่วยสงสัย ฝีดาษวานรสงสัยสายพันธุ์ Clade 1 เป็นเพศชายชาวยุโรป อายุ 66 ปี เดินทางมาจากทวีปแอฟริกา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการระบาด  เดินทางมาถึงประเทศไทย วันที่ 14 สิงหาคม 2567 เวลา 18.00 น. และในวันที่ 15 สิงหาคม 2567 มีอาการป่วย มีไข้ เข้าได้กับโรคฝีดาษวานร จึงเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง  ผลตรวจเชื้อโรคฝีดาษวานร สายพันธุ์ Clade 2 ให้ผลเป็นลบ ส่วนสายพันธุ์ Clade 1B ให้ผลไม่ชัดเจน จึงต้องตรวจใหม่ และอยู่ระหว่างรอผลตรวจยืนยัน ขณะนี้ได้ส่งทีมสอบสวนโรคลงพื้นที่ติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย โดยมีผู้สัมผัสเสี่ยงใกล้ชิดกับผู้ป่วยในช่วงก่อนเดินทางเข้าประเทศไทย 43 ราย และขอให้ผู้ที่เดินทางมาจากทวีปแอฟริกาสังเกตอาการภายใน 21 วัน หากมีอาการไข้ มีผื่น ต่อมน้ำเหลืองโต ให้รีบไปพบแพทย์ทันที
มาตรการในการป้องกันโรคฝีดาษวานร
เนื่องจากมี 6 ประเทศในทวีปแอฟริกาที่มีการระบาดในขณะนี้ ได้แก่ สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก สาธารณรัฐยูกันดา สาธารณรัฐรวันดา สาธารณรัฐบุรุนดี สาธารณรัฐเคนยา สาธารณรัฐโกตดิวัวร์ อยู่ในพื้นที่เขตติดโรคไข้เหลือง ทางด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศและกักกันโรค จึงกำหนดให้ลงทะเบียนผ่านระบบ Thai Health Pass และต้องผ่านกระบวนการคัดกรองกับเจ้าหน้าที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศฯ ผู้โดยสารที่เดินทางจาก 6 ประเทศข้างต้น จะได้รับการวัดอุณหภูมิร่างกาย สอบถามอาการ และสังเกตผื่นตามร่างกาย  หากมีอาการเข้าได้กับโรคฝีดาษวานร จะมีการแยกกักผู้เดินทาง ซักประวัติ ตรวจร่างกายเพิ่มเติม พร้อมเก็บสิ่งส่งตรวจเพื่อส่งห้องปฏิบัติการของด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศฯ และส่งผู้ป่วยต่อไปยังสถาบันบำราศนราดูร
สถานการณ์โรคฝีดาษวานรทั่วโลก
(15 ส.ค. 67) ที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 3/2567 รับทราบสถานการณ์โรคติดต่อที่สำคัญ โดยเฉพาะโรคฝีดาษวานร (Mpox) ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้แจ้งเตือนสถานการณ์ การระบาดโรคฝีดาษวานรในบางประเทศ ในทวีปแอฟริกากลาง และแอฟริกาตะวันออก ประกาศให้เป็นภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข (Public Health Emergency of International Concern : PHEIC) หลังแอฟริกามีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้น พบอัตราการป่วยด้วยโรคฝีดาษวานร สายพันธุ์ Mpox Clade 1B สูงขึ้น ในปี 2565 – 2567 ผู้ป่วยสะสม 14,250 ราย เสียชีวิต 456 ราย
ประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2565 พบผู้ป่วยยืนยัน 827 ราย เฉพาะปี 2567 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 3 สิงหาคม พบผู้ป่วยยืนยัน 140 ราย ทุกรายเป็นสายพันธุ์ Clade 2 ไม่ใช่สายพันธุ์ที่ระบาดในแอฟริกาที่ WHO ประกาศ คือ สายพันธุ์ย่อย Clade 1B
กรมควบคุมโรควางมาตรการเฝ้าระวังเข้มงวด 

  1. ให้หน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่เพิ่มการเฝ้าระวังผู้ที่อาจป่วยด้วยโรคฝีดาษวานร โดยใช้แนวทางเฝ้าระวัง แนวทางการวินิจฉัย และแนวทางการรักษาตามมาตรการ ในการดูแลโรคฝีดาษวานร
  2. ให้ด่านควบคุมโรคระหว่างประเทศ คัดกรองโรคฝีดาษวานรในผู้เดินทางที่มีความเสี่ยงที่มาจากประเทศในทวีปแอฟริกา ณ จุดคัดกรองโรค ทุกช่องทาง บก เรือ และอากาศ ก่อนจะเข้าประเทศ โดยเฉพาะด่านท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ ดอนเมือง และอู่ตะเภา
  3. เตรียมความพร้อมทางห้องปฏิบัติการในการตรวจวินิจฉัยโรคฝีดาษวานร ทั้งห้องปฏิบัติการสังกัดกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และหน่วยงานในสำนักงานกระทรวงสาธารณสุข
  4. จัดเตรียมเวชภัณฑ์ในการรักษาผู้ป่วยโรคฝีดาษวานรอย่างเพียงพอ
  5. จัดเตรียมทีมเฝ้าระวังสอบสวนและการจัดการพื้นที่ในกรณีเกิดการระบาดของโรคฝีดาษวานร
    ข้อเน้นย้ำการป้องกันโรคฝีดาษวานร
    หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่แออัด หรือคนพลุกพล่าน หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดบุคคล และขอให้มีการทำความสะอาดบริเวณพื้นผิวจุดสัมผัสร่วมสม่ำเสมอ หมั่นล้างมือด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ ไม่ใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น  หากผู้ที่มีอาการสงสัยสามารถขอเข้ารับการตรวจหาเชื้อได้ที่สถานพยาบาลใกล้บ้านทุกแห่ง หากมีข้อสงสัยให้ติดต่อสายด่วน 1422 กรมควบคุมโรค 

 

ข่าวยอดนิยมในสัปดาห์

error: Content is protected !!