วันอังคาร, ธันวาคม 5, 2023
หน้าแรกเศรษฐกิจไทยเป็นเจ้าภาพ APEC 2022 จะได้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจกลับมาแค่ไหน หลังทุ่มงบจัดงาน 3,283 ล้านบาท

ไทยเป็นเจ้าภาพ APEC 2022 จะได้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจกลับมาแค่ไหน หลังทุ่มงบจัดงาน 3,283 ล้านบาท

-

กดเพื่อฟังข่าวนี้

สัปดาห์การประชุมเอเปก หรือความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation: APEC) ระหว่างวันที่ 14 – 19 พฤศจิกายนนี้ ได้เริ่มขึ้นแล้ว

งานใหญ่ในสัปดาห์นี้ที่น่าสนใจคือ การประชุม APEC CEO Summit ผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปกกับผู้แทนสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจของเอเปกเพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองกับภาคเอกชน 

และการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก ครั้งที่ 29 ที่มีหัวข้อหลักของการประชุมเอเปก คือ ‘Open. Connect. Balance.’ หรือ ‘เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สร้างสมดุล’ 

การเป็นเจ้าภาพเอเปกของไทยใช้งบลงทุนเยอะแค่ไหน 

ต้องย้อนไปที่มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2564 ที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ความเห็นชอบต่อกรอบวงเงินงบประมาณของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องสำหรับการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปกของไทยในปี 2565 (เจ้าภาพเอเปก) รวมทั้งสิ้น 3,283.10 ล้านบาท ประกอบด้วยงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 จำนวน 2,342.28 ล้านบาท และงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 จำนวน 940.82 ล้านบาท โดยให้สำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณให้แก่ส่วนราชการที่รับผิดชอบภารกิจโดยตรง

การประชุมที่เกี่ยวเนื่องตลอด 1 ปี ตั้งแต่ช่วงเดือนธันวาคม 2564 – พฤศจิกายน 2565 มีทั้งสิ้น 15 ครั้ง ประกอบด้วย การประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส 5 ครั้ง การประชุมระดับรัฐมนตรี 9 ครั้ง และการประชุมระดับผู้นำ 1 ครั้ง

นอกจากไทยในฐานะเจ้าภาพเอเปกต้องการจะผลักดันการพัฒนาภูมิภาคไปสู่การเจริญเติบโตอย่างครอบคลุม พร้อมทั้งขับเคลื่อนเอเปกเข้าสู่โลกยุคหลังโควิด-19 ที่ยั่งยืนและสมดุล คือการเปิดกว้างสู่ทุกโอกาสด้านการค้าและการลงทุน การส่งเสริมการรวมตัวทางเศรษฐกิจในภูมิภาคผ่านมุมมองใหม่ที่ได้เรียนรู้จากสถานการณ์โควิด-19 เพื่อสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้แก่ทุกภาคส่วนและเชื่อมโยงในทุกมิติ โดยนำโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy Model หรือ BCG) มาเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนการฟื้นฟูอย่างยั่งยืนของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

สิ่งที่ไทยคาดหวังจากการเป็นเจ้าภาพ คือ ความร่วมมือต่างๆ ที่เกิดขึ้นในการประชุมเอเปก จะช่วยให้ภาคเอกชน และ MSMEs (วิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย) ได้รับประโยชน์และฟื้นตัวเร็วขึ้น

สัปดาห์ที่ผ่านมา (9 พฤศจิกายน 2565) อนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เชื่อมั่นถึงประโยชน์จากการประชุมเอเปกจะส่งผลสำคัญต่อการฟื้นตัวของภาคเอกชนภายหลังประสบกับความท้าทายสำคัญ ซึ่งไทยพร้อมหารือเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับเขตเศรษฐกิจ และภาคเอกชนที่จะมาร่วมการประชุมที่กำลังจะมาถึง

“เนื่องจากวิกฤตการณ์จากไวรัสโควิด-19 ที่ผ่านมา ทำให้การดำเนินธุรกิจในหลายๆ ภาคส่วนต้องหยุดชะงัก และซบเซาลงไปส่งผลให้ธุรกิจขนาดกลาง และขนาดเล็กซึ่งปรับตัวได้ยากกว่า เกิดจากข้อจำกัดของทรัพยากร การเปลี่ยนแปลงของตลาด และการขาดสมดุลทางการเงิน ดังนั้น เมื่อรัฐบาลหลายๆ ประเทศผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ที่เกิดจากไวรัสโควิด-19 มีการจัดการเพื่อต่อสู้กับความท้าทายได้ดีขึ้น จึงเป็นช่วงเวลาสำคัญที่รัฐบาลได้หาแนวทาง กำหนดนโยบาย เพื่อสร้างโอกาสในการฟื้นฟูธุรกิจ MSMEs ซึ่งจากตัวเลขแล้ว สัดส่วนธุรกิจ MSMEs ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกที่มีมากถึง 98% และมีมูลค่า GDP ถึงกว่า 40-60% ”

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุต่อว่า ในการประชุมเอเปกครั้งนี้ จึงเป็นโอกาสอันดีที่ภาคธุรกิจจะพูดคุยถึงข้อเสนอ และแนวทางในการสนับสนุนธุรกิจ ให้สอดรับกับนโยบายในระดับสากล และเพื่อร่วมรับมือในด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน พร้อมกำหนดท่าทีของไทยที่จะรักษาผลประโยชน์ของธุรกิจ MSMEs ในเวทีความร่วมมือพหุภาคี พร้อมกับเชื่อมโยง MSMEs ไทยกับพันธมิตรธุรกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขัน เพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจ ส่งเสริมศักยภาพของ MSMEs ไทย ซึ่งเขตเศรษฐกิจเอเปกจะได้หารือถึงแนวทางใหม่ๆ พร้อมทั้งฟื้นฟูและปรับปรุงการเชื่อมต่อระหว่างเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเปกทั้งหมด 4 ด้าน ประกอบด้วย 

1. การประยุกต์ใช้เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว 

2. การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ธุรกิจขนาดเล็กพัฒนาได้เร็วขึ้น การมีทักษะดิจิทัลจะทำให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้มากกว่า 

3. การจัดหาเงินทุนและการปรับโครงสร้างหนี้ 

4. การรับมือกับตลาดที่กำลังพัฒนาและเปลี่ยนแปลงไป การสร้างสิ่งแวดล้อมทางธุรกิจที่สนับสนุนสตาร์ทอัพ ส่งเสริมนวัตกรรม เสริมสร้างการมีส่วนร่วมในห่วงโซ่มูลค่าโลก

ยังเป็นคำถามว่าประเทศไทยจะใช้การลงทุนเป็นเจ้าภาพที่ทุ่มงบจัดงาน 3,000 กว่าล้านบาทนี้คุ้มค่าแค่ไหน แม้ผลประโยชน์จากการประชุมเอปก 2022 จะเกิดขึ้นจริง ซึ่งน่าจะเห็นผลและเป็นรูปเป็นร่างในระยะยาวก็ตาม

และมีอีกหลากมุมมองว่างบที่ลงทุนไปนั้นน่าจะสามารถใช้งบถูกลงกว่านี้ได้ 

ไทยรัฐพลัสชวนดูว่างบประมาณในการจัดเอเปก 3,283.10 ล้านบาท หากเอาไปใช้ในโครงการอื่นจะทำอะไรได้บ้าง

ค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยในประกันสังคม

ผู้ประกันตนที่เข้ารักษาเป็นผู้ป่วยในสามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลทั่วไปได้ไม่เกินวันละ 2,000 บาท และค่าห้อง ค่าอาหาร ไม่เกินวันละ 700 บาท หากคำนวณเฉพาะค่ารักษาพยาบาลทั่วไป สามารถอุดหนุนค่ารักษาพยาบาลทั่วไปได้ 1,641,550 คน

ค่าทำฟันในระบบประกันสังคม

900 บาทต่อคน/ปี อุดหนุนได้ 3,647,888.89 คน

ค่าอุดหนุนบุตร 

โครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด หรือ ‘เงินอุดหนุนบุตร’ เป็นโครงการที่รัฐบาลจะจ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยาให้กับผู้ปกครองที่มีบุตรตั้งแต่วัยแรกเกิดจนถึงอายุ 6 ปี เพื่อรับเงินช่วยเหลืออุดหนุน 600 บาทต่อเดือน รวมตลอดระยะเวลาจะอุดหนุนได้คนละ 43,200 บาท 

และถ้านำงบประมาณในการเป็นเจ้าภาพเอเปกไปอุดหนุนเด็ก จะสามารถอุดหนุนได้ 75,997.68 คน

ค่าเบี้ยคนชรา 

เบี้ยยังชีพคนชราเป็นสวัสดิการของรัฐที่ให้กับผู้สูงอายุ โดยมีกำหนดเกณฑ์คือ

อายุ 60-69 ปี ได้รับเงิน 600 บาท/เดือน  

อายุ 70-79 ปี ได้รับเงิน 700 บาท/เดือน  

อายุ 80-89 ปี ได้รับเงิน 800 บาท/เดือน  

อายุ 90 ปีขึ้นไป ได้รับเงิน 1,000 บาท/เดือน

หากช่วยคนชราอายุ 70-79 ปี (700 x 12) = 84,000 บาท/คน/ปี

งบเอเปกจะอุดหนุนได้ 390,845.24 คน ในเวลา 1 ปี

เยียวยาน้ำท่วม

คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติมาตรการเยียวยาประชาชนที่โดนผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วม วงเงินรวม 7,000 ล้านบาท โดยใช้งบประมาณกลางฉุกเฉินออกมาดูแลประชาชน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน เนื่องจากช่วงที่ประสบปัญหาน้ำท่วมนั้น แบ่งเป็น

ประชาชนที่โดนน้ำท่วม ระยะเวลา 1 เดือน จะได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาท/ครัวเรือน 

ประชาชนที่โดนน้ำท่วม 2 เดือน จะได้รับเงินเยียวยา 6,000 บาท/ครัวเรือน

ประชาชนที่โดนน้ำท่วมนาน 3 เดือน จะได้รับเงินเยียวยา 7,000 บาท/ครัวเรือน

หากใช้งบจัดงานเอเปกเยียวยาน้ำท่วมสูงสุด 7,000 บาท/ครัวเรือน จะสามารถเยียวยาประชาชนได้ 469,014.29 ครัวเรือน

เยียวยาน้ำท่วมนาข้าว 

เกษตรได้รับการเยียวยาน้ำท่วมนาข้าวไร่ละ 1,340 บาท หากใช้งบจำนวนเท่าที่ใช้จัดงานเอเปกจะสามารถเยียวยาเกษตรกรน้ำท่วมนาข้าวได้จำนวน 2,450,074.62 ไร่

ขอบคุณข้อมูลจาก Thairath Online

#เอมหาชัย
#เอมหาชัยhttps://www.kochasrinews.com
ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์

ข่าวยอดนิยมในสัปดาห์