เมื่อวันที่ 30 มี.ค.67 นายสมพงษ์ คุ้มสุวรรณ นายอำเภอคำชะอี เปิดเผยว่า อำเภอคำชะอี จังหวัดมุกดาหาร ร่วมกับวัดโพธิ์ศรี ได้จัดกิจกรรมประกวดเส็งกลองกิ่ง งานบุญผะเหวด วัดโพธิ์ศรี ประจำปี 2567 ณ บ้านดงภู่ ตำบลน้ำเที่ยง อำเภอคำชะอี โดยเป็นความร่วมมือ ระหว่างภาคราชการ ภาคศาสนา ภาคประชาสังคม ปราชญ์ชาวบ้าน ผู้นำท้องถิ่นท้องที่ และเยาวชน จัดกิจกรรมนี้ขึ้นมา เพื่อเป็นการ สืบสาน รักษา ประเพณี เส็งกองกิ่ง ซึ่งเป็นประเพณีโบราณของชาวอีสานที่สืบต่อกันมา โดยมีทีมเข้าร่วมประกวดแข่งขัน มากถึง 32 ทีม และได้รับเกียรติเป็นอย่างสูงจากท่านปลัดกระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ให้เกียรติมอบถ้วยเกียรติยศ รางวัลชนะเลิศ ในการแข่งขันการเส็งกลองกิ่งนี้ ซึ่งเป็นขวัญและกำลังใจ ให้กับคณะผู้จัดงาน และผู้ร่วมการแข่งขันเป็นอย่างมาก
โดยหลังจากการแข่งขัน ที่แบ่งออกเป็น 5 รอบ ใช้เวลารวมในการตีกลองเส็ง กว่า 3 ชั่วโมงเสร็จ ซึ่งผลการแข่งขันทีมชนะเลิศได้แก่ บ้านม่วง ตำบลบ้านเหล่า อำเภอชะอี ซึ่งมีพระเป็นผู้ร่วมตีด้วย รองชนะเลิศลำดับที่ 1 บ้านดงภู่ ตำบลน้ำเที่ยง อำเภอคำชะอี และทีมรองชนะเลิศลำดับที่ 2 บ้านหนองแวง ตำบลบ้านโคก อำเภอเมืองมุกดาหาร
นายสมพงษ์ คุ้มสุวรรณ นายอำเภอคำชะอี กล่าวเพิ่มเติมว่า กลองกิ่ง เป็น กลองที่ศรัทธา ญาติโยมสร้างถวายประจำวัด ใช้ตีนำในการบุญกุศล อาทิ แห่พระเวส แห่กฐิน แห่กันหลอน (ผ้าป่า) จะนำกลองกิ่ง หรือ กลองตุ้ม มาเส็งตี เป็น เสียงกลอง บุญเสียงกลองกุศล งานบุญประเพณี และใช้ตีในขบวนแห่ เพื่อความสนุกสนาน ซึ่งเป็นประเพณีมาแต่โบราณของชาวอีสาน เป็นสมบัติของวัดศูนย์กลางวิถีชีวิตและชุมชน โดยกลองกิ่ง มีลักษณะการนำไปใช้ในงานจะแตกต่างกันไปตามวัตถุประสงค์ของงานประเพณีนั้น ๆ แต่ที่เหมือนกัน คือ กลองกิ่งเป็นกลองที่ใช้ในการแข่งขันประขันความดัง เรียกว่า “การเส็งกลองกิ่ง” โดยการแข่งขันตีกลองกิ่ง กำหนดจัดขึ้นเมื่อมีงานประเพณี โดยนิยมแข่งกันในงานบุญเดือนหก คือ บุญบั้งไฟ การเส็งกลอง เป็นบทบาทของชายฉกรรจ์ในหมู่บ้านที่แข็งแรงที่สุด เพื่อเป็นผู้ตีกลองกิ่ง ปัจจัยสำคัญที่ทำให้กลองมีเสียงดัง 3 ประการ คือ 1) บั้ง หรือ ไม้ตัวกลอง ถ้าเป็นไม้เนื้อแข็งมีเสียงดังดีมาก 2) หนังหุ้มกลอง ต้องเลือกหนังที่ดี เหนียว ทนทาน ไม่ขาดง่าย และ 3) คนตี ถ้าคุณภาพของกลองดีเท่ากัน วัดกันที่ความแข็งแรงของคนตี ตีประชันกันแบบ บุคคลเดียวในห้วงเวลา ที่กำหนด “เสียงกลองกิ่ง กลองพื้นบ้านอีสาน ที่ยังคงดังกึกก้องในยามงานบุญประเพณี ในวิถีชีวิตของคนอีสาน ที่มั่นคงอยู่ในฮีต 12 คอง 14 หมายถึงความสามัคคี กลมเกลียวในชุมชมท้องถิ่น ความร่วมมือระหว่าง วัดและชุมชน ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญ ของความเป็นหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) โดยอำเภอคำชะอี และภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน มีความมุ่งมั่นตั้งใจอย่างแน่วแน่ ที่จะสืบสาน รักษาวัฒนธรรมประเพณีอันดีงาม เพื่อสืบสานรากเหง้า ภูมิปัญญา วิถีชีวิต ให้กับเยาวชนคนรุ่นต่อไปว่า “ได้หน้าแล้วอย่าลืมหลัง” และพร้อมขยายผลที่จะดำเนินการ สิ่งดี ๆ แบบนี้ให้เกิดขึ้นในทุกพื้นที่ของอำเภอคำชะอีต่อไป”
กองสารนิเทศ สป.มท.