วันที่ 10 กรกฎาคม 2567 เวลา 13.30 น. ที่ห้องประชุมชลบุรี ศาลากลางจังหวัดชลบุรี นายชัยพร แพภิรมย์รัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี เป็นประธานประชุมคณะกรรมการศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัดชลบุรี ด้านอุทกภัย ดินถล่ม และคลื่นลมแรง ปี 2567 ครั้งที่ 1 /2567 โดยมีนายอดิเรก อุ่นโอสถ ปลัดจังหวัดชลบุรี นายเดชา เรืองอ่อน หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดชลบุรี พร้อมด้วยภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม
โดยการประชุมในครั้งนี้ จังหวัดชลบุรีมีการเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย ดินถล่ม และคลื่นลมแรง ปี 2567 ซึ่งพื้นที่เสี่ยงเกิดอุทกภัย คือบริเวณชายฝั่งทะเล ได้แก่พื้นที่อำเภอเมืองชลบุรี ศรีราชา บางละมุง เมืองพัทยา และสัตหีบ ซึ่งเป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจของจังหวัด ปัญหาส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากทางระบายน้ำมีขนาดเล็ก คลองตื้นเขิน มีสิ่งกีดขวางทางน้ำ เมื่อเกิดฝนตกหนักจะมีน้ำท่วมฉับพลัน และหากน้ำทะเลหนุนทำให้เกิดการระบายน้ำไม่ทัน ส่วนบริเวณลุ่มน้ำบางปะกง พื้นที่ เกาะจันทร์ บ่อทอง หนองใหญ่ บ้านบึง เป็นที่ลาดเชิงเขาเมื่อฝนตกมักเกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และไหลลงสู่อำเภอพนัสนิคม และพานทองซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวมักเกิดขึ้นในช่วงเดือน สิงหาคม – ตุลาคม หรือฤดูฝนของทุกปี
โดยในปีนี้คาดว่าจะมีปริมาณฝนตกเพิ่มขึ้น ในช่วงเดือนสิงหาคม ทาง Gistda ให้ข้อมูลว่า จากการเก็บข้อมูลความชื้นในดินบริเวณพื้นที่เชิงเขาของจังหวัดชลบุรี พบว่า ปริมาณความชื้นยังอยู่ในระดับปลอดภัย
ด้านโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาคลองหลวงรัชชโลทร ให้ข้อมูลว่า ขณะนี้อ่างเก็บน้ำคลองหลวงรัชชโลทรมีปริมาณน้ำ 53 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 43% ของความจุอ่าง ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ควบคุม ให้อยู่ในประมาณ 40-50 ล้าน ลบ.ม. เพื่อเตรียมรองรับปริมาณน้ำฝนที่จะตกเพิ่มขึ้นในช่วงเดือนสิงหาคม ซึ่งต้องมีการระบายน้ำในช่วงนี้ให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม
อย่างไรก็ตาม การระบายน้ำออกจากอ่างเก็บน้ำจะคำนึงถึงปริมาณน้ำที่สะสมในพื้นที่ท้ายอ่างเพื่อป้องกันน้ำท่วมฉับพลันบริเวณอำเภอพนัสนิคม พานทอง และเกาะจันทร์ ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงเกิดน้ำท่วม ขอให้ประชาชนติดตามประกาศแจ้งเตือนภัยพิบัติจากหน่วยงานรัฐอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินและป้องกันความเสียหายหากเกิดอุทกภัย.